สิ่งที่สามารถบ่งบอกอายุและปีเกิดได้นั้น ไม่ได้มีเพียงแค่ริ้วรอยแห่งวัยบนใบหน้าเท่านั้น แต่สิ่งต่าง ๆ ที่เคยพบเจอและสะสมจนเป็นประสบการณ์แห่งชีวิตก็สามารถบ่งบอกอายุหรือปีเกิดได้เช่นกัน อย่างเพลงโปรด นักร้องและวงดนตรีที่ตามกรี๊ดตลอด ดาราที่ชื่นชอบและคอยตามติ่งทุกเรื่องที่พวกเขาแสดง หรือแม้แต่ “ขนม” ที่เคยกินตอนสมัยยังเด็กก็เช่นกัน
ไม่ว่าคุณจะเกิดในยุคสมัยไหนก็ตาม แต่ที่แน่นอนที่สุด คือ ทุกคนต้องเคยกินขนมที่ขายตามร้านค้า ซึ่งหากคุณเป็นชาว Y2K จะต้องเคยลิ้มลองกลิ่นรส (Flavor) อันเป็นเอกลักษณ์ของขนมในยุค 2000 อย่างแน่นอน แต่เคยสงสัยไหมว่า “กลิ่นรส” ของขนมต่าง ๆ มันคืออะไร ? และเกิดขึ้นได้อย่างไร ? ในบทความนี้มีคำตอ
“กลิ่นรส (Flavor)” ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็ก ๆ ใช้พิจารณาในการตัดสินใจเลือกซื้อเป็นอันดับแรก ถ้าขนมหรืออาหารมีองค์ประกอบทุกอย่างดีหมดทั้งลักษณะภายนอกที่สวยงามน่ารับประทาน มีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่หากมี “กลิ่นรส” ที่ไม่ดี ขนมหรืออาหารนั้นก็อาจจะไม่ถูกเลือกซื้อในครั้งต่อไป
โดยปกติขนมหรือของกินเล่นต่าง ๆ ที่มี “กลิ่นรส” ผลไม้ วานิลลิน ช็อกโกแลต และอื่น ๆ อาจมีส่วนผสมของวัตถุดิบหลักที่มีกลิ่นรสนั้นอยู่ แต่ด้วยกระบวนการผลิตที่ต้องแปรรูปและให้ความร้อน จึงอาจทำให้เกิดการสูญเสียสารให้กลิ่นรสตามธรรมชาติของวัตถุดิบนั้น ๆ ไปในระหว่างกระบวนการผลิต วงการอุตสาหกรรมอาหารจึงนิยมใช้ “สารแต่งกลิ่นรส (Flavoring Agent)”
“สารแต่งกลิ่นรส (Flavoring Agent)” จัดเป็นหนึ่งในวัตถุเจือปนอาหาร สามารถใช้เพื่อเพิ่มกลิ่นรสอันพึงปรารถนาและเป็นเอกลักษณ์ให้แก่ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม และขนมได้ นอกจากนี้กลิ่นรสที่เข้มข้นจากสารแต่งกลิ่นรสจะไปกระตุ้นให้ผลิตภัณฑ์มีกลิ่นรสตามที่ต้องการ รวมถึงสารเติมแต่งกลิ่นรสบางชนิดจะให้กลิ่นรสติดยาวนาน ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเพลิดเพลินในการรับประทานผลิตภัณฑ์ใส่กลิ่นรสเหล่านี้จนต้องขอเพิ่มอีกหนึ่งชิ้น
ในปัจจุบัน “สารแต่งกลิ่นรส” สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ “สารแต่งกลิ่นรสตามธรรมชาติ (Natural Flavoring)” ที่ได้จากพืช หรือสัตว์ ที่ปกติมนุษย์ใช้บริโภคอยู่แล้ว นำมาผ่านกระบวนการทางกายภาพ เช่น การบด การทำให้แห้ง เป็นต้น ซึ่งนิยมใช้กับกลิ่นรสชา กาแฟ และโกโก้ เป็นต้น “สารแต่งกลิ่นรสเลียนแบบธรรมชาติ (Natural Identical Flavoring)” ที่ได้จากการแยกวัตถุที่ให้กลิ่นรสโดยวิธีทางเคมี หรือได้จากวัตถุที่สังเคราะห์ขึ้น ซึ่งต้องมีลักษณะทางเคมีที่เหมือนกับวัตถุที่พบได้ตามธรรมชาติที่มนุษย์ใช้บริโภค และ “สารแต่งกลิ่นสังเคราะห์ (Artificial Flavoring)” ที่ได้จากวัตถุที่ไม่เคยพบเจอในผลิตภัณฑ์ธรรมชาติมาก่อน
และแน่นอนว่า “ขนมจากยุค Y2K” ที่มีกลิ่นรสอันเป็นเอกลักษณ์ที่แม้จะผ่านมานานแค่ไหนก็ยังคงติดอยู่ในความทรงจำของใครหลายคนก็ใส่สารแต่งกลิ่นรสเช่นกัน อย่าง “โคล่าและสไปรท์อัดเม็ด” ที่ใส่กลิ่นรส Cola Flavor และ Sprite Flavor ซึ่งหากใครกินแบบธรรมดา บอกได้เลยว่า ไม่แนว เพราะมันต้องทุบ ๆ แล้วค่อยกินและเคี้ยว จะทำให้กลิ่นรสเด่นชัดมากขึ้น
“บ๊วยแผ่น” หากพูดถึงบ๊วยแผ่นแห่งยุค Y2K ต้องบ๊วยแผ่นที่อัดแน่นเป็นทรงกระบอก ซึ่งมีกลิ่นรสของ Plum/Prune Flavor อันเป็นเอกลักษณ์มาก “ลูกอมคูก้าและนมอัดเม็ด” ที่เด็กบางคนไม่ชอบดื่มนม แต่ดันชอบกินขนมพวกนี้ ซึ่งมีกลิ่นรสของ Milk Flavor หอมอ่อน ๆ ทำให้เด็ก ๆ กินได้แบบเพลิน ๆ “ลูกอม ลูกกวาด” ที่มีกลิ่นหอมหวานของขนมสายไหม หรือที่เรียกว่า กลิ่นรสของ Cotton Candy Flavor “เหรียญทองช็อคโกแลต” เป็นขนมยอดฮิตสำหรับสายช็อคโกยุค Y2K เลยก็ว่าได้ ทั้งราคาถูก และมีกลิ่นรสของ Chocolate Flavor แบบจุก ๆ แต่ควรเอาไปแช่เย็นก่อนกิน เพราะถ้าซื้อและกินเลย อาจเปื้อนมือและเสื้อผ้าได้ “ดราก้อนทังค์” เป็นขนมผลไม้กัมมี่ที่มีจุดเด่นด้านความเหนียวเคี้ยวเพลินสุด ๆ มาพร้อมกับกลิ่นรส Lemon-lime/Strawberry Flavor รวมถึงมีทั้งแบบอัดแท่งและแบบหลอดดูด จะกินแบบธรรมดาหรือใช้ดูดน้ำหวานก็อร่อยเพลินจนหยุดไม่ได้ “ขนมเป๊าะแป๊ะ” ที่มาในรูปแบบอมยิ้มทรงกลมอันมีกลิ่นรสที่หลากหลายทั้ง Apple/Strawberry Flavor แต่ที่เด็ดกว่านั้น คือ ผงสีขาวที่ให้มาในซองไว้จิ้มกับอมยิ้ม ซึ่งถือเป็นจุดขายของขนมชนิดนี้เลย “หวานเย็นหลอด” เป็นของเด็ดช่วงหน้าร้อนแห่งยุค Y2K ที่ต้องแวะซื้อกินหลังเลิกเรียนตลอด ด้วยกลิ่นรส Cream-soda/Salak Flavor หรือที่เรียกว่า น้ำเขียว น้ำแดง นั่นเอง ในปัจจุบัน “ขนมแห่งยุค Y2K” บางอย่างก็ยังสามารถหารับประทานได้ตามร้านขายของชำทั่วไป บางอย่างก็หาซื้อได้เฉพาะในห้างสรรพสินค้าบางแห่งเท่านั้น หรือบางอย่างก็กลายเป็นความทรงจำที่อัดแน่นไปด้วย “กลิ่นรสแห่งความทรงจำของยุค Y2K” ไปแล้ว